เฟซบุ๊ก สื่อโซเชียลมีเดียชื่อดังยังไม่สามารถควบคุมคอนเทนต์ที่มีเนื้อหารุนแรงได้ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดฆ่าตัวตายผ่านบริการ เฟซบุ๊ก ไลฟ์ แม้ก่อนหน้าบริษัทออกมาตรการจัดการปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาช่วยคัดกรองเนื้อหาสุ่มเสี่ยง เปิดระบบแชตกับนักจิตวิทยาเพื่อโน้มน้าวไม่ให้ผู้ใช้ฆ่าตัวตาย หรือการเพิ่มความสะดวกในการรายงานเหตุฆ่าตัวตายให้เร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กไม่เคยเปิดเผยจำนวนเหตุไลฟ์สดฆ่าตัวตาย แต่หลังเกิดเหตุดังกล่าวครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ตายเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 14 ปี เหตุเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเกิดเหตุชายอายุ 49 ปี ที่รัฐอลาบามา ของสหรัฐ ยิงตัวตายผ่านไลฟ์ ห่างไปไม่นานนักจากเหตุน่าสลดใจที่ชายอายุ 21 ปี ในไทยฆาตกรรมลูกสาวอายุ 11 เดือน เมื่อวันที่ 25 เม.ย.
อย่างไรก็ดี หลังเกิดเหตุล่าสุด รอยเตอร์สรายงานว่า เฟซบุ๊กตกลงร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนามสร้างช่องทางแยกเพื่อสื่อสารกับทางการเวียดนามโดยตรง ในการทำตามคำขอร้องของรัฐบาลเป็นหลัก เพื่อปราบปรามคอนเทนต์รุนแรงบนแพลตฟอร์ม รวมถึงการกวาดล้างข่าวปลอมด้วยเช่นกัน โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเฟซบุ๊กเกิดขึ้นไม่นานหลังกูเกิลบริษัทไอทีรายใหญ่ ประกาศปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมเพื่อเพิ่มการขจัดข่าวปลอมและเนื้อหาที่มีความรุนแรง
ก่อนหน้านี้ ซีเอ็นเอ็นและเดอะ การ์เดียน ระบุว่า ความต้องการผลักดันให้บริการไลฟ์เป็นตัวสร้างรายได้หลักให้บริษัท อาจส่งผลให้เฟซบุ๊กควบคุมคอนเทนต์บนไลฟ์ได้ไม่เต็มที่ ด้านเว็บไซต์ เอนแกดเจ็ต รายงานอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีว่า เฟซบุ๊กมีทางเลือกอื่นในการจัดการปัญหาถ่ายทอดสดฆ่าตัวตาย ด้วยการตัดสัญญาณการไลฟ์ แต่เฟซบุ๊กยังดำเนินการดังกล่าวได้ไม่รวดเร็วพอ และลบวิดีโอฆ่าตัวตายช้าเกินไป จนวิดีโอไลฟ์เหล่านั้นแพร่กระจายบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว
ด้าน ซาราห์ ที โรเบิร์ต ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย ยูซีแอลเอ ในสหรัฐ กล่าวว่า การเพิ่มเครื่องมือให้ผู้ใช้ช่วยรายงานไลฟ์ฆ่าตัวตายได้เร็วขึ้นนั้น ยังไม่เหมาะสำหรับแก้ปัญหา และเพิ่มภาระให้ผู้ใช้ เนื่องจากผู้ใช้ต้องเห็นคอนเทนต์รุนแรงดังกล่าวโดยตรงก่อน