ซอฟต์แวร์ควบคุมการใช้งานคอมพิวเตอร์แบบไม่ต้องพูดออกคำสั่งที่เฟซบุ๊กกำลังพัฒนานี้ จะช่วยให้มนุษย์สามารถพิมพ์ข้อความได้ 100 คำต่อนาที โดยยังเป็นโครงการที่ยังอยู่ในขั้นริเริ่ม และต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ในการตรวจจับคลื่นสมอง โดยไม่ต้องผ่าตัดฝังอุปกรณ์
แนวคิดนี้ถูกเปิดเผยในที่ประชุมผู้พัฒนาเทคโนโลยีของเฟซบุ๊ก ซึ่งจัดที่เมืองซาน โฮเซ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นางเรจีนา ดูแกน หัวหน้าแผนกห้องปฏิบัติการค้นคว้าวิจัยฮาร์ดแวร์ของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า เทคโนโลยีที่กำพัฒนานี้ไม่ได้ถอดรหัสความคิดของผู้ใช้ แต่เป็นการถอดรหัส "คำพูด" ซึ่งเป็นการใช้งานแบบไม่ต้องพูดออกคำสั่ง แต่ให้ความรวดเร็วและยืดหยุ่นเหมือนการใช้เสียงสั่งงาน ทางบริษัทมีแผนจะสร้างทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ขึ้นมาสำหรับเป้าหมายนี้ โดยจ้างทีมงานนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการรวม 60 คน
เครื่องตรวจจับแบบใหม่นี้สามารถวัดค่าการทำงานของสมองเป็นหลายร้อยครั้งต่อวินาที โดยไม่ต้องผ่าตัดฝังอุปกรณ์ และจะมีความเที่ยงตรงถึงระดับมิลลิเมตร ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีวิธีประมวลภาพในลักษณะนี้
ขณะที่นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า กำลังพัฒนาระบบที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานพิมพ์ข้อความได้โดยตรงจากสมอง ซึ่งเร็วกว่าการพิมพ์บนแป้นโทรศัพท์ทุกวันนี้ประมาณ 5 เท่า
"สมองของมนุษย์เรา ผลิตข้อมูลได้มากพอ เทียบเท่ากับการสตรีมภาพยนตร์ความละเอียดสูง 4 เรื่อง ทุก ๆ วินาที' แต่ 'ปัญหาคือ วิธีการนำข้อมูลนั้นออกมาสู่โลก ผ่านคำพูด สามารถส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วเท่ากับโมเด็มจากยุค 1980 เท่านั้น"
ล้ำไปอีก! เฟซบุ๊ก พัฒนาเทคโนโลยีใช้สมองสั่งการคอมพิวเตอร์!
เฟซบุ๊กยังมีแผนจะนำเทคโนโลยีนี้ ไปผลิตต่อเป็นเทคโนโลยีเพื่อการสวมใส่ ซึ่งสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ แม้จะเป็นแค่การใช้สมองคลิ๊กตอบ ใช่หรือไม่ใช่ ก็จะช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกว่าเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เป็นธรรมชาติมากขึ้น
แนวคิดอื่นที่มีการเปิดเผยในที่ประชุมครั้งนี้ ยังมีโครงการที่ช่วยให้มนุษย์ฟังผ่านผิวหนังได้ ผ่านระบบที่ใกล้เคียงกับอักษรเบรลล์ ที่ใช้จุดกดบนผิวหนังเพื่อส่งผ่านข้อมูล นอกจากนี้ยังวาดภาพเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าทุกสิ่งที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีที่ใช้สมองควบคุมการทำงานซึ่งซับซ้อน ยังจำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัดฝังชิพคอมพิวเตอร์ในสมอง ซึ่งเฟซบุ๊กยอมรับว่ายังเป็นไปไม่ได้ที่จะผลิตเพื่อการใช้ในระดับอุตสาหกรรม
"ในวันหนึ่งข้างหน้า อาจจะเป็นไปได้ที่ฉันจะคิดเป็นภาษาจีนกลาง และคุณสามารถรู้สึกได้ทันทีเป็นภาษาสเปน" หัวหน้าแผนกวิจัยเฟซบุ๊ก ระบุ
ที่มา BBC