เฟซบุ๊กประกาศใช้มาตรการระบุข่าวปลอมหรือข่าวลวงเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม หลังถูกใช้เป็นเครื่องมือกระจายข่าวลวงในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
เครื่องมือกำจัดข่าวปลอมหรือข่าวลวงของเฟซบุ๊กจะอาศัยกฎเกณฑ์การตรวจสอบข่าวสารจากผู้ใช้ โดยให้หน่วยงานภายใต้การลงนามขององค์กรข่าวและหน่วยงานอื่นๆ จากหลายประเทศแล้ว 43 แห่ง อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันตรวจสอบเนื้อหาข้อมูลความจริงระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลข่าว ซึ่งหากพบข้อมูลข่าวชิ้นใดเป็นของปลอมหรือก่อให้เกิดความขัดแย้งเข้าใจผิดก็จะถูกเว็บไซต์เฟซบุ๊กบันทึกเครื่องหมายแสดงข้อความระบุเป็นข่าวปลอม
โดยข้อความระบุข่าวปลอมได้ถูกเพิ่มจากหัวข้อเดิมที่มีอยู่แล้วคือ ข้อความที่ก่อให้เกิดความรำคาญ หรือข้อความที่ไม่สมควรอยู่ในเฟซบุ๊ก นอกจากนั้น เฟซบุ๊กจะดำเนินมาตรการลงโทษหรือสกัดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ เพิ่มเติมอีกถ้าตรวจพบความผิดซ้ำ อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานองค์กรหลายแห่งช่วยตรวจสอบตัดสินข้อมูลข่าวสารนั้นๆ ว่าเหมาะสมถูกต้องหรือไม่อย่างไร หลังจากเฟซบุ๊กถูกใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวสารโจมตีคู่แข่งระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามีผลในการเอื้อผู้สมัครบางคนให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง.