รู้หรือไม่?เล่น quiz ผ่านเฟซบุ๊ก เพิ่มโอกาสถูกล้วงตับ

รู้หรือไม่?เล่น quiz ผ่านเฟซบุ๊ก เพิ่มโอกาสถูกล้วงตับ

สัปดาห์นี้ชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไร - นิสัยของคุณเหมือนพระนางคนไหน - ความสามารถของคุณเหมาะสมกับงานชนิดใด - นักบอลคนไหนจะชวนคุณออกเดท หรือแม้กระทั่งชาติที่แล้วคุณเกิดเป็นอะไร
เหล่านี้คือแบบสอบถามหรือภาษาฝรั่งเรียกว่า ควิซ (quiz) ซึ่งมีให้พบเห็นอย่างแพร่หลายตามหน้าฟีดเฟซบุ๊ก


คำถามก็คือ นอกจากความบันเทิงที่เราได้รับหลังจากตอบคำถามนั้นออกไป ข้อมูลหรือความต้องการของเราสุ่มเสี่ยงหรือไม่ที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดเเละอันตราย ? 

สร้างรายได้ผ่านการล้วงข้อมูล
คำถามยอดนิยมของควิซในปัจจุบันหนีไม่พ้นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ ความตลก ความรัก เเละการค้นหาตัวเอง หากสอดคล้องอยู่กับกระแสสังคมในขณะนั้นด้วยก็มักได้รับความนิยมยิ่งขึ้น ผู้ใช้หลายคนเมื่อเห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กเล่น ก็อดไม่ได้ที่จะเล่นตาม 

ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท T-NET ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ บอกว่า การเล่นควิซนั้นใช่ว่าจะปลอดภัย 100 เปอร์เซนต์ เพราะถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตโปรแกรม ล้วงข้อมูลพื้นฐาน วิธีคิด วิธีปฎิบัติส่วนตัวของผู้ใช้แต่ละราย เพื่อนำไปหาประโยชน์ทางด้านการตลาดหรือธุรกิจได้ ซึ่งโดยทั่วไปเหตุผลของการสร้างควิซหรือแบบสอบถามนั้นมีด้วยกัน 4 ประเภท 

1.เพื่อความบันเทิง

"นักพัฒนาสร้างสรรค์โปรแกรมหลายคน เลือกทำควิซสนุกๆ ขึ้นมา หยิบยกประเด็นที่สังคมสนใจในขณะนั้นมาทำ เช่น เมื่อมีละครยอดฮิตออนแอร์อยู่ ก็เลือกสร้างควิซ คำถามว่าคุณเป็นใครในละครเรื่องนั้นให้ทุกคนเล่นและแชร์ต่อกัน" 

2.สร้างรายได้จากโฆษณา

"ถ้าสร้างมาแล้ว คนเล่นกันเยอะ ก็สามารถเอาไปคุยหรือไปเคลมกับบริษัทโฆษณาได้ว่า งานของผมมีคนเล่นเป็นล้าน พวกคุณอยากที่จะติดโลโก้โฆษณาสินค้าหรือเปล่าล่ะ" 

3.สอบถามเพื่อวิเคราะห์ผู้บริโภค ซึ่งมีผลทางด้านการตลาด
การเล่นควิซแต่ละครั้ง มักต้องลงทะเบียนผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อยืนยันตัวตนผ่านแอคเคาท์ หากมีผู้สนใจเล่นจำนวนมาก ผู้สร้างก็สามารถนำจำนวนเหล่านั้นไปทำตลาดแย่งชิงความได้เปรียบจากคู่แข่งทางการค้าได้
"หลายบริษัทมองหาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้าตัวเอง ตั้งคำถามเพื่อประเมินความสนใจของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้น สมมุติว่าบริษัทขายดอกไม้ คุณก็สร้างควิซคำถามในลักษณะเช่น คุณถูกโฉลกกับดอกไม้สีไหน ซึ่งผู้ร่วมเล่นต้องลงทะเบียน ใส่ข้อมูลระบุเพศ อายุ อาชีพ ความสนใจพิเศษ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ สามารถรวบรวมเก็บไว้เป็นกลุ่มๆ เพื่อนำไปให้นักวิเคราะห์ผลิตสินค้าหรือพัฒนาบริการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้" 

4.ด้านมืด

"พวกนี้จ้องฉกเอาข้อมูลของเราไปขายเลย อาจมีคนว่าจ้าง เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ซึ่งผู้ใช้งานต้องระวัง"

รู้หรือไม่?เล่น quiz ผ่านเฟซบุ๊ก เพิ่มโอกาสถูกล้วงตับ

รู้คุณค่าความเป็นส่วนตัว เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี
จากสัมมนา Thailand Zocial Awards 2016 พบว่าสถิติการเติบโตของผู้ใช้เฟซบุ๊กในเมืองไทยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 41 ล้านบัญชี โตขึ้น 17% คิดเป็น 60% ของประชากรไทย สัดส่วนเพศชาย : หญิง ที่ใช้เฟซบุ๊ก 21 : 20 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ผู้ชายใช้มากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ไทยเรายังใช้เฟซบุ๊ก มากเป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 


โดยแม้สถิติผู้ใช้งานจะสูงมาก แต่ความรู้เท่าทันการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียนั้นกลับกลายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายมีความกังวลมาโดยตลอด นั่นหมายรวมไปถึงการตอบแบบสอบถามที่เราคิดว่าสนุก อย่างควิซต่างๆ ด้วย 

วรวิชญวิทย์ ประเสริฐยิ่ง อดีต Product Owner - Social Media Monitoring Tool เปิดเผยว่า แอพควิซบันเทิงต่างๆ ที่คนทั่วไปนิยมเล่นกันนั้น สามารถล้วงข้อมูลส่วนตัวพื้นฐานสาธารณะแทบทั้งหมดของเราไป ตั้งแต่รูปโปรไฟล์ ซึ่งเอาไว้ขายทำโฆษณาชวนเชื่อในอินเทอร์เน็ต , รายชื่อเพื่อนทั้งหมดของเรา เพื่อนำไปสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าบนสังคมออนไลน์ , ข้อมูลการกดไลค์ ซึ่งหมายถึงความสนใจ , ติดตามสถานะ เพศสภาพ รวมถึงข้อมูลครอบครัวเพื่อต่อยอดทำโฆษณา ตลอดจนรูปภาพทั้งหมดทั้งที่เจ้าตัวอัพโหลดเองและโดนแท็ก รวมถึงขอ token หรือสิทธิ์การโพสต์ด้วย

"โลกเรากำลังเริ่มปรับตัวเข้ากับกระแส Big Data สิ่งที่แบรนด์ต่างๆ ต้องการ คือข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากสามารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับแบรนด์ได้ ตัวอย่างเช่น อยากขายของบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับคนโสด ก็จำเป็นต้องไปล้วงหาข้อมูลบุคคลสถานะโสด เพื่อวิเคราะห์สิ่งที่เขาเป็นหรือต้องการ เพื่อตอบสนองด้วยสินค้าหรือโฆษณาที่ตรงใจ" 

วรวิชญวิทย์ บอกว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กในเมืองไทยส่วนใหญ่มีอยู่สองประเภทคือ 1.พวกที่ไม่ค่อยอ่าน และ 2.พวกที่ไม่เห็นความสำคัญของข้อมูลตัวเอง ซึ่งแอพฯ พวกนี้เลือกเล่นกับความไม่รู้ของคน
"มนุษย์เราต่างต้องการมีตัวตนและได้รับการปฎิสัมพันธ์จากคนๆ ทั่วไป อย่างมีคนมาไลค์ คอมเม้นท์และแชร์ ผู้สร้างแอพฯ เหล่านี้วิเคราะห์แล้วว่า คำตอบที่คุณจะได้รับ ไม่ว่าอย่างไรก็จะได้รับความสนใจจากเพื่อนๆ ผู้เล่นจะรู้สึกดีใจจากปฏิสัมพันธ์ จนลืมไปว่า ข้อมูลที่เราอนุญาตให้เขาเข้าถึงนั้นนี้มีประโยชน์และถูกนำไปใช้อะไรบ้าง" 
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดโซเชียลมีเดีย แนะนำว่า ทุกโปรแกรมที่ต้องล็อกอินผ่านเฟซบุ๊ก จำเป็นต้องระวัง อ่านให้ดี และรอบคอบ อย่าอนุญาตให้ใครมาเข้าถึงสิทธิส่วนตัวของเรา โดยไม่สอดคล้องหรือคุ้มค่ากับสิ่งที่เราต้องการ 

"ทุกครั้งที่เล่นควิซ แอพฯ เหล่านี้จะทำการขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลของเราก่อนเสมอ ซึ่งสามารถแก้ไขหรือเลือกได้ว่า จะให้ข้อมูลมากน้อยแค่ไหน หรือไม่ให้เลย ถ้าเราอนุญาตให้สิทธิก็เหมือนกับให้เขาเข้ามาถึงข้อมูลเราได้ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือน แม่บ้านทำความสะอาดห้องน้ำ ขออนุญาตเข้าห้องเก็บเอกสารลับของทางบริษัท โดยสัญญาจะไม่ยุ่งวุ่นวาย ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เข้ามาจัดเรียงเอกสารใหม่ของเรา แต่ก็สามารถสอดส่อง เก็บข้อมูลต่างๆ ภายในห้องเพื่อนำไปวิเคราะห์หรือวางแผนตามวัตถุประสงค์ได้อยู่ดี"

รู้หรือไม่?เล่น quiz ผ่านเฟซบุ๊ก เพิ่มโอกาสถูกล้วงตับ

เล่นควิซอย่างมีสติเเละรู้เท่าทัน

ความรอบคอบและรู้เท่าทันโซเชียลมีเดียคือสิ่งที่จำเป็น โดย ดร.โกเมน ย้ำทิ้งท้ายเช่นกันว่า ทุกครั้งที่เล่นควิซหรือต้องตอบแบบสอบถาม ต้องตั้งสติให้ดี รู้จักระแวดระวังในรายละเอียดต่างๆ
 
"จะกรอกอะไร อย่ากรอกสุ่มสี่สุ่มห้า คิดก่อนตรงนี้มีความจำเป็นต้องกรอกไหม สมมุติล็อกอินด้วยแอคเคาท์เรียบร้อย หน้าถัดไปยังถูกร้องขอให้ใส่ยูสเซอร์เนมและพาสเวิร์ดอีก หากคุณมัวแต่เพลิน นึกแต่จะเล่นอย่างเดียว กรอกไปโดยที่ไม่คิด เฟซบุ๊กคุณจะกลายเป็นอันตรายทันที หรือเกมที่ถามสิ่งต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปหาประโยชน์เช่นกัน สมัยนี้มีคนใช้งานเฟซบุ๊กเยอะมาก จาก 100 คน หลอกลวงฉกข้อมูลสำเร็จสัก 10 คนก็ประสบความสำเร็จแล้ว ฉะนั้นระวังให้ดี" 

สรุปก็คือถ้าไม่อยากมานั่งปวดหัวในภายหลัง ก็อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจเทคโนโลยี เพราะความบันเทิงของเรา อาจนำมาซึ่งปัญหาที่อาจกลายเป็นอันตรายต่อความเป็นส่วนตัว สินทรัพย์หรือโชคร้ายแม้กระทั่งชีวิตก็เป็นได้.

รู้หรือไม่?เล่น quiz ผ่านเฟซบุ๊ก เพิ่มโอกาสถูกล้วงตับ

ขอบคุณ >>POSTTODAY

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์